เศรษฐกิจไทยกำลังเติบโตช้าลงจากราว 8% ต่อปี ในช่วงปี 2523-2532 มาอยู่ราว 4% หลังวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 จนถดถอยมาอยู่ที่ต่ำกว่า 3% ในช่วงสิบปีให้หลังนี้ การเติบโตที่ต่ำมากนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการอัดฉีดเงินการคลังเพิ่มได้มากนัก เพราะไทยขาดดุลการคลังต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลา 18 ปีแล้ว ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะสูงขึ้นจนอยู่ที่มากกว่า 60% ของจีดีพี มากไปกว่านั้น หนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 90% ของจีดีพีสะท้อนถึงขีดจำกัดที่จะสร้างการเติบโตด้วยการกระตุ้นบริโภคเช่นกัน
ทางออกของประเทศไทยอยู่ที่ไหน? เบื้องต้นเราจำเป็นที่จะต้องสร้างเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจสามตัว เพื่อที่จะเร่งเครื่องเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเดินหน้าได้เร็วและราบรื่น
สร้างเครื่องยนต์ตัวใหญ่ ที่กระฉับกระเฉงและสร้างสรรค์
รายงาน World Development Report (2024) ของธนาคารโลก เสนอว่าประเทศกำลังพัฒนาควรกระตุ้นบริษัทขนาดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจ (Disciplining powerful incumbents) ให้กระฉับกระเฉงและลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี ผลิตภาพและกระบวนการผลิตให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น หากไม่มีการกระตุ้นดังกล่าว บริษัทขนาดใหญ่ที่มีส่วนแบ่งตลาดและอำนาจต่อรองสูง (dominant power) ก็อาจจะใช้อำนาจนั้นแสวงหากำไรง่าย ๆ แทนการพัฒนา เช่น บริษัทอาจจะเลือกผลิตโดยใช้แรงงานราคาถูกต่อไป โดยไม่ลงทุนเครื่องจักรใหม่ และไม่ลงทุนอบรมพัฒนาทักษะแรงงาน เป็นต้น
การจะกระตุ้นให้เครื่องยนต์ตัวใหญ่ ใช้กำไรสะสมไปในทิศทางที่ก้าวหน้าสร้างสรรค์ด้วยความเร็ว สามารถทำได้โดย 1. บังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า เพื่อป้องกันการค้าที่ไม่เป็นธรรมและกระตุ้นการแข่งขัน 2. ลดอุปสรรคการเข้าสู่ตลาดของผู้แข่งขันรายใหม่ 3. สนับสนุนส่งเสริมบริษัทขนาดเล็กที่มีนวัตกรรมสูง และปกป้องมิให้ถูกรายใหญ่เอาเปรียบหรือ เข้าซื้อกิจการเพื่อฆ่าธุรกิจ (Killer acquisition)
และ 4. ผลักดันบริษัทขนาดใหญ่ที่รับความเสี่ยงได้มาก (เพราะมีกำไรสะสมสูง) ให้ดำเนินกิจกรรมที่ยากแต่ดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม เช่น การออกไปแข่งขันในตลาดโลก บุกตลาดเกิดใหม่ หรือ การลงทุนในนวัตกรรม เป็นต้น
จะเห็นว่าการกระตุ้นเครื่องยนต์ตัวใหญ่ เป็นเรื่องวิธีกำกับดูแลมากกว่าจะเป็นการกระตุ้นด้วยเงิน จึงไม่มีข้อจำกัดทางการคลังมากนัก (แต่มักจะเจอข้อจำกัดทางการเมืองเสียมากกว่า)
สร้างเครื่องยนต์ตัวใหม่ ด้วยเงินลงทุนระหว่างประเทศและการเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่าโลก
การสร้างเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวใหม่ หมายถึงการ พัฒนาอุตสาหกรรมและสาขาการผลิตใหม่ที่ซับซ้อนขึ้น โดยมีผู้ประกอบการไทยและแรงงานไทยมีส่วนร่วมและส่วนแบ่งได้อย่างมีนัยสำคัญ ธรรมชาติอุตสาหกรรมใหม่มักเกิดจากการดึงดูดเงินลงทุนทางตรงจากประเทศและบริษัทที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (High-tech FDI) เข้ามาพร้อมร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทยหรือใช้ผู้ผลิตส่วนประกอบไทย และค่อย ๆ ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่คนไทยได้เรียนรู้
ธนาคารโลกเรียกกระบวนการนี้ว่าการปรับจากการเติบโตด้วยเงินลงทุน (Investment-led growth) ไปสู่การผสมผสานดูดซับความสามารถ (Infusion) และการสร้างนวัตกรรม (Innovation) เราสามารถส่งเสริมกระบวนการดูดซับความสามารถทางการผลิตจากต่างประเทศได้โดย